โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

ประวัติโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

      เริ่มต้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปในคราวแรก สยามในสมัยนั้นมีชุมชนชาวตะวันตก มากกว่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยชาวตะวันตกมาช่วยวางโครงสร้างการบริหารและพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก จึงเกิดความต้องการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นด้วย โรงพยาบาลที่ทันสมัยแบบตะวันตก เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นมาก

      ในปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) ฯพณฯ พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ (Mgr.Louis Vey) ผู้แทนพระสันตะปาปา ประจำราชอาณาจักรสยาม จึงประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่กรุงเทพฯ และได้ขอความร่วมมือไปยังคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แขวงไซ่ง่อน ซึ่งมีพันธกิจด้านการพยาบาล และการศึกษา ให้ส่งภคินีเข้ามาช่วยงานโรงพยาบาล แมร์กังดิ๊ด (Mere Candide) เป็นอธิการิณีเจ้าคณะแขวงไซ่ง่อน จึงได้ส่งเซอร์ 7 ท่าน เข้ามาดังนี้ 1. เซอร์อิกญาส เดอ เยซู 2. เซอร์ดอนาเซียน 3. เซอร์คามิล เดอ เยซู 4. เซอร์เซราฟิน เดอ มารี 5. เซอร์เอดมองค์ 6. เซอร์เออเชนี ดู ซาเครเกอ 7. เซอร์ชอง แบร์ฆมันส์ เข้ามาปฏิบัติงานในสยาม และมีนายแพทย์ปัวซ์ (ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์ประจำสำนัก) เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล

      โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ตั้งอยู่ริมถนน และคลองสาทร ในครั้งแรกที่ก่อตั้งโรงพยาบาลนั้น ประกอบด้วยเรือนผู้ป่วยชาวตะวันตก และเรือนผู้ป่วยชาวไทย และบ้านพักของคณะภคินีเซนต์ปอลฯ คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ที่ได้เข้ามาทำงานจากไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1898 โดยมีเซอร์อิกญาส เดอ เยซู เป็นอธิการิณีท่านแรก

      โรงพยาบาลได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1898 โดยมีนายแพทย์ปัวส์ เป็นนายแพทย์คนแรก นับว่าเป็นโรงพยาบาลคาทอลิก ที่ทันสมัยแห่งแรกในประเทศไทย โดยโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ใช้นามของท่านนักบุญหลุยส์ กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงพยาบาล ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน

      เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1973 ฯพณฯ ยวง นิตโย มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิก กรุงเทพฯ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยในหลังใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า “ศรีสวัสดิ์” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เริ่มเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1975 และต่อมาได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่มอีกหนึ่งอาคารซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “สิริกุศลา” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

      ในปี ค.ศ. 1979 โรงพยาบาลได้ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดหัวใจ และผ่าตัดเปลี่ยนไต นับเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศที่สามารถให้บริการด้านนี้