ประวัติเขตสาทร

ประวัติเขตสาทร

ประวัติเขตสาทร

      ประเทศไทยได้ปฏิรูป การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นแบบประเทศตะวันตก เมื่อ พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสถาปนาการปกครองส่วนกลาง ขึ้นเป็นกระทรวงต่าง ๆ และยกฐานะกรมพระนครบาล ขึ้นเป็นกระทรวงนครบาล ทำหน้าที่ปกครองราชธานี และพื้นที่มณฑลกรุงเทพมหานคร ต่อมาในช่วงปลายรัชสมัย ได้แบ่งการปกครอง ออกเป็น อำเภอชั้นใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนคร อำเภอสามเพ็ง อำเภอบางรัก อำเภอปทุมวัน อำเภอดุสิต อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางกอกใหญ่ และอำเภอบางลำภูล่าง และอำเภอชั้นนอก 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางซื่อ อำเภอบางเขน อำเภอบางกะปิ อำเภอบางขุนเทียน อำเภอราษฎร์บูรณะ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ และอำเภอหนองแขม โดยพื้นที่ปัจจุบันของเขตสาทร ในครั้งนั้นขึ้นกับอำเภอบ้านทะวาย เมืองนครเขื่อนขันธ์

      ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็น จังหวัดพระประแดง ในภายหลัง ครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศขยายมณฑลกรุงเทพมหานคร ออกไป และแบ่งเขตออกเป็นจังหวัดต่างๆได้แก่จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดมีนบุรี จังหวัดพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาล ออกประกาศยกเลิก อำเภอ ชั้นใน 7 อำเภอ และตั้งขึ้นใหม่ 25 อำเภอ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2458 ในการจัดตั้งอำเภอใหม่ในครั้งนี้ได้ยกเอาอำเภอบ้านทะวายซึ่งแต่ก่อนอยู่ในเขตจังหวัดพระประแดง มาจัดตั้งเป็น อำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเปลี่ยนชื่อ อำเภอบ้านทะวาย เป็นอำเภอยานนาวา ตามชื่อ วัดยานนาวา ซึ่งเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอยานนาวา ต่อมามีประกาศคณะปฏิวัติ ให้อำเภอยานนาวา มีฐานะเป็น เขตยานนาวา และเปลี่ยนเป็นสำนักงานเขตยานนาวา ตามลำดับ

      พื้นที่การปกครองของสำนักงานเขตยานนาวา มีอาณาเขตกว้างขวางมาก และมีประชากรอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ท้องที่บางแขวง อยู่ห่างไกลจากสำนักงานเขต ทำให้การบริหารการปกครอง และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีนโยบาย ตั้งสำนักงานเขตเพิ่มขึ้น ดังนั้น สำนักงานเขตยานนาวาจึงแบ่งพื้นที่ตั้งเป็นสำนักงานยานนาวา สาขา 1 จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2532 โดยมีพื้นที่ปกครอง ประกอบด้วย แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน แขวงทุ่งมหาเมฆ เนื้อที่ประมาณ 9.326 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีกระทรวงมหาดไทย ให้เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตยานนาวา ตั้งเป็นเขตยานนาวา เขตสาธร และเขตบางคอแหลม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 สำนักงานเขตยานนาวา สาขา 1 จึงเปลี่ยนเป็น “สำนักงานเขตสาธร” สถานที่ตั้งเดิมอยู่ที่อาคารสำนักงานเขตยานนาวา ปลายถนนสาธรใต้ ติดกับถนนเจริญกรุง สภาพคับแคบ เป็นอาคารไม้ชั้น 2 ไม่สะดวกแก่ประชาชน และข้าราชการ – ลูกจ้างที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณ ซอยแยกเซ็นต์หลุยส์ 3 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 8 ตาราวา ทำการก่อสร้างอาคารคอนกรีตสูง 10 ชั้น พื้นที่อาคาร 11,346 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้าง127,890,000 บาท ปีงบประมาณ 2533 – 2535 เปิดทำการวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ตั้งเป็นอาคารสำนักงานถาวร โดยย้ายมาเปิดบริการประชาชน ณ อาคารแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2536

ที่มาของชื่อ “สาธร” และ “สาทร”

      คำว่า “สาทร” ได้มาจากชื่อคลองสาทรและถนนสาทร ซึ่งมีที่มา คือ เมื่อปีพุทธศักราช 2438 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการค้าข้าวของประเทศรุ่งเรืองมาก มีชาวจีนและฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น แต่การคมนาคม การขนส่งมีความยากลำบาก ทางราชการต้องการพัฒนาที่ดิน และขุดคลองเป็นจำนวนมาก จึงเชิญชวนเอกชนทำการขุดคลอง โดยจะยกสิทธิ์ในที่ดินสองฟากคลองเป็นการตอบแทน ต่อมาเจ๊สัวยม ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม จ้างกรรมกรจีนทำการขุดคลองขนาใหญ่ จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับคลองถนนตรง (คลองวัดหัวลำโพง) คลองที่ขุดขึ้นนั้น ชาวบ้านเรียกชื่อตามนามของผู้ขุดว่า “คลองเจ๊สัวยม” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เรียก “คลองนายยม” และได้นำดินที่ขุดคลองทำถนน ทั้ง 2 ฝั่งคลองด้วย จึงเรียกชื่อถนนตามชื่อคลองด้วย ภายหลังเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงสาทรราชายุกต์ ราษฎรพากันเรียกคลองขุดใหม่นี้ว่า “คลองสาทร” ส่วนที่ดินที่ได้จากขุดคลอง นำมาถมสองฟาก และตัดเป็นถนนสาทรเหนือ และถนนสาทรใต้ ในภายหลัง

ทำไม ? “สาธร” ใช้ ธ ธง จึงเป็น “สาทร” ใช้ ท ทหาร

      สืบเนื่องคำว่า “สาธร” ซึ่งเป็นชื่อสำนักงานเขตสาธร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ไม่มีประวัติความเป็นมา และไม่มีความหมายคำแปล ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แต่คลองสาทรกับ ถนนสาทรมีประวัติความเป็นมาจากบรรดาศักดิ์ขุนนาง ในสมัยในรัชกาลที่ 5 คือ เมื่อปีพุทธศักราช 2431 มีคหบดีจีนชื่อ เจ๊สัวยม บุตรพระยาพิศลสมบัติบริบูรณ์ (เจ๊สัวยิ้ม) อุทิศที่ดินของตนและทำการขุดคลองขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ไปบรรจบคลองวัดหัวลำโพง นำดินที่ขุดคลองทำถนนทั้ง 2 ฝั่งคลอง คนทั่วไปเรียก “คลองเจ๊สัวยม” เมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสาทรราชายุกต์ คลองและถนนทั่ง 2 ฝั่ง เรียกว่า “คลองสาทร” และ “ถนนสาทร”

      ต่อมาเมื่อการเขียนภาษาไทย ได้มีการเขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “สาธร” จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเขียนชื่อคลอง และถนนสาทร ผิดไปจากความเป็นมาในอดีต เมื่อจัดตั้งสำนักงานเขตขึ้น ได้นำชื่อถนนสาทรมาใช้เป็นชื่อเขตสาทร โดยใช้ “ธ ธง” จึงทำให้ไม่ถูกต้องด้วย เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า การเขียนชื่อเขตสาธร คลองสาธร และถนนสาธรเหนือ – ใต้ ไม่ถูกต้องตามประวัติความเป็นมา ของคลองและถนน ซึ่งหลักฐานว่าคำว่า “สาทร” ใช้ ท ทหาร ทั้งหมด กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอ กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า “สาธร” ไม่มีความหมาย และคำแปลตามหลักภาษาไทย ส่วนคำว่า “สาทร” มีความหมายและคำแปลว่า “เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่” ตามหลักภาษาไทย ในพจนานุกรม และเป็นคำที่มาจากบรรดาศักดิ์ของ หลวงสาทรราชายุกต์ (เจ๊สัวยม) ซึ่งตามประวัติอักขรานุกรม ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 จะใช้ ท ทหาร ทั้งหมด เมื่อเขตสาทรจัดตั้งขึ้น และใช้ชื่อคลองสาทร และถนนสาทร เป็นชื่อสำนักงานเขต โดยใช้ “ธ ธง” จงเป็นการเขียนไม่ตรง กับที่มาชื่อบรรดาศักดิ์ และหลักภาษาไทย กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศ ลงวันที่ 23 เมษายน 2542 เปลี่ยนแปลงชื่อ “เขตสาธร” เป็น “เขตสาทร” ตามหลักฐานดังกล่าว

      ดังนั้น ชื่อสำนักงานเขตสาทร ต้องใช้ ท ทหาร และถนนสาทรเหนือ – ใต้ ตลอดจนซอยแยก จากถนนสาทร ต้องเขียนป้ายชื่อ เป็น ท ทหาร ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 116 ตอนพิเศษ 35 ง. ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2542 เป็นต้นไป “สาธร” เป็น “สาทร” ที่ถูกต้อง ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ความเป็นมาแต่อดีต และถูกต้องตามหลักภาษาไทย ซึ่งจะเป็นสำนักงานเขตสาทรที่เอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ราษฎรในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่สืบไป