บทบาทหน้าที่

บทบาทหน้าที่คณะกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม


1. วางแผน ดำเนินการ และประเมินผลโครงการกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตลอดปีการศึกษา

2. บูรณาการการจัดกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเข้ากับการเรียนการสอน ที่มุ่งพัฒนานักศึกษาทุกคนให้เรียนรู้จักคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย และมีความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมของนานาชาติ

3. รับผิดชอบการดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย

แนวทางการนำมาตรฐานด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทยสู่การปฏิบัติให้เกิดผล (ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการนำมาตรฐานการอุดมศึกษาสู่การปฏิบัติ พ.ศ.2561)


1. สถาบันอุดมศึกษาพึงกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และความเป็นไทย เพื่อการธำรงรักษา สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมไทยหรือการพัฒนาต่อยอดและสร้างคุณค่าใหม่ ตามจุดเน้นและอัตลักษณ์ของสถาบัน

2. สถาบันอุดมศึกษาพึงส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรหรือรายวิชาที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการสาระความรู้ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตื่นตัว ความภูมิใจในความเป็นไทย ความเข้าใจในจุดร่วมบนความแตกต่างของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์

3. สถาบันอุดมศึกษาพึงส่งเสริมการจัดระบบการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างศักยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของผู้เรียน โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการใช้ฐานความรู้ และระบบความคิดในลักษณะสหวิทยาการ อาทิ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสานกับทักษะทางศิลปะ ระบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการการหล่อหลอมทักษะการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในวิชาชีพและเป็นทักษะชีวิตต่อไป

4. สถาบันอุดมศึกษาพึงส่งเสริมการจัดบริการทางวิชาการ โครงการหรือกิจกรรมที่เป็นการสืบสาน ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยตามอัตลักษณ์ของชุมชม ท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการพัฒนาทั้งด้านความรู้และการประพฤติตนให้เหมาะสม เกิดสุนทรียทางศิลปวัฒนธรรมความรักและภูมิใจในความเป็นไทย

5. สถาบันอุดมศึกษาพึงมีฐานข้อมูลหรือการบริการ หรือแหล่งการเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เพื่อให้บุคคลทั่วไปมาใช้บริการได้ และเป็นฐานรากที่เข้มแข็งในสังคมท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย สร้างจุดยืนทางวัฒนธรรมให้กับประเทศ

6. สถาบันอุดมศึกษาพึงสนับสนุนให้มีงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือความเป็นไทย ที่เหมาะสมและสอดคล้องจุดเน้นและอัตลักษณ์ของประเภทสถาบัน และตามความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและเชิงพื้นที่ของสถาบัน

7. สถาบันอุดมศึกษากำกับดูแลให้มีการประกันคุณภาพด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทยและการกำกับติดตามผลการดำเนินการด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

8. สถาบันอุดมศึกษาที่มีอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม พึงส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม ในด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เพื่อให้สามารถสร้างโอกาสมูลค่าเพิ่ม โดยนำจุดเด่นของอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีมาสร้างคุณค่าใหม่หรือความได้เปรียบเชิงแข่งขันให้กับประเทศบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากศิลปวัฒนธรรม สามารถประยุกต์และผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับสังคมโลกสมัยใหม่