พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า

พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า

พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า

พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ที่นี่รวบรวมจักรหลากหลายรุ่น จากการเรียนการสอนนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังได้ทำความรู้จักกับอุปกรณ์สำคัญในการตัดเย็บเสื้อผ้า หาคำตอบในการสร้างสรรค์ชุดสวย บอกเล่าวิวัฒนาการการตัดเย็บด้วย “จักรเย็บผ้า” และ “ความสวยคลาสสิก”

“จักรเย็บผ้า” ที่รวบรวมจัดแสดงที่ “พิพิธภัณฑ์” นี้ เล่าเรื่องราวของจักรแต่ละยุคสมัย ในยุคแรก ๆ ได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลเยอรมัน เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจักรอุตสาหกรรมใช้เท้าถีบ และใช้หัวเข่าในการยกตีนผี จักรหลายคันไม่สามารถใช้การได้แต่ยังคงความสวยงาม จึงนำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือ จักร มีจักรเย็บผ้าขาใยแมงมุม จักรเย็บผ้ากับสตรีสมัยรัชกาลที่ ๕ และจักรเย็บผ้าขาไม้สัก ซึ่งมีตัวเดียวในประเทศไทยแบบใช้มือหมุนอายุเก่าถึง ๑๐๐ ปี ,จักรเย็บผ้าขาเหล็กที่เป็นเส้นตรง ที่มีเพียงแค่ตัว ๒ ตัวในประเทศไทยเช่นกัน รวมถึงจักรรุ่นใหม่ ๆ ส่วนที่ ๒ คือ ส่วนประกอบในการตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น เตารีดที่ใช้ความร้อนด้วยถ่านไม้ ตัวเตารีด และที่รองเตารีดจะผลิตจากเหล็กหล่อ และเปิดด้านบนเพื่อใส่ถ่านสำหรับให้ความร้อนในการรีดผ้า, หลอดด้าย ซึ่งแกนผลิตจากไม้และกระดาษ, ไม้บรรทัด ผลิตจากไม้เช่นเดียวกัน มีไม้บรรทัดตรง ไม้บรรทัดโค้ง และไม้บรรทัดฉาก, สายวัด และเครื่องวัดชายกระโปรง และการสร้างแบบ อุปกรณ์เครื่องวัดชายกระโปรงที่ทำจากไม้ และสามารถเลื่อนขึ้นลงได้

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ จักรที่เคยใช้ในการเย็บรองพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส โดยเย็บรองพระบาทเงิน รองพระบาททอง และรองพระบาทไหม อย่างละหนึ่งคู่ ซึ่งเจ้าของจักรได้บริจาคจักรให้กับพิพิธภัณฑ์จักรแห่งนี้

ผศ.ดร.มลวิภา ภูลสนอง ระบุเพิ่มอีกว่า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ แต่เดิมคือ โรงเรียนการช่างสตรีบ้านทราย หรือการช่างสตรีพระนครใต้ ซึ่งมีการเรียนการสอนการตัดเย็บเสื้อผ้า จักรที่รวบรวมจัดเก็บเป็นจักรที่ใช้งานจริง และแม้จักรหลายคันจะไม่สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ยังคงความงาม มีประวัติ เล่าเรื่องราวการตัดเย็บอย่างสมบูรณ์ จึงมีความคิดรวบรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่เข้าศึกษาเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า ถ่ายทอดเงาอดีตเชื่อมโยงปัจจุบัน

เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ไม่เสียค่าเข้าชม โทรศัพท์ ๐-๒๑๑-๒๐๕๒, ๐-๒๒๑๑-๒๐๕๖ โทรสาร ๐-๒๒๑๑-๒๐๔๐