สะพานปลากรุงเทพ

องค์การสะพานปลากรุงเทพ

องค์การสะพานปลากรุงเทพ

ในอดีตการขนถ่ายและจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเค็มของจังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน มีศูนย์รวมอยู่ที่ถนนทรงวาด อำเภอสัมพันธวงศ์ การจำหน่ายสัตว์น้ำจืดมีศูนย์รวมอยู่ที่หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม สถานที่ทั้งสองแห่งดังกล่าวคับแคบและสกปรก ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดวก ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาภาวการณ์ประมงของประเทศไทยตามคำร้องขอรัฐบาล ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวได้เสนอว่าระบบตลาดปลาที่มีอยู่เดิมยังขาดหลักการดำเนินงานทางวิชาการและขาดการสงเคราะห์ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ สมควรที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในด้านต่าง ๆ ๖ ประการ ดังนี้ ๑. บริการเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์น้ำไปสู่ตลาด (การขนส่ง) ๒. บริการเกี่ยวกับการเก็บสินค้าสัตว์น้ำที่สะพานปลา (ห้องเย็น) ๓. การจัดระบบประมูลสินค้าสัตว์น้ำ (ตลาดกลางหรือสะพานปลา) ๔. จัดองค์การให้ชาวประมงกู้ยืมเงินทุนและออมสิน (สินเชื่อการเกษตร) ๕. บริการเกี่ยวกับให้สินเชื่อเครื่องมือและอุปกรณ์การประมง (เครื่องมือและอุปกรณ์การประมง) ๖. บริการเกี่ยวกับการส่งเสริมการประมง แนะนำทางวิชาการและอื่น ๆ ตลอดจนบริการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย (วิชาการและสวัสดิการ)

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจการประมงด้านการตลาด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาล เมื่อรัฐบาลรับหลักการและเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว กรมประมงจึงได้เริ่มงานในการก่อสร้างสะพานปลาของรัฐขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายในการจัดตั้งองค์การสะพานปลา องค์การสะพานปลาจึงได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นวันครบรอบ ๖๔ ปี องค์การสะพานปลา นับแต่องค์การสะพานปลาได้รับการจัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เพื่อจัดระเบียบการประกอบกิจการค้าสัตว์น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร ได้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างท่าเทียบเรือประมงตามชายฝั่งทะเลทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงการจัดให้มีตลาดกลางค้าสัตว์น้ำหรือสะพานปลา ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่สำคัญ จนถึงปัจจุบัน องค์การสะพานปลาเปิดให้บริการสะพานปลารวม ๔ แห่ง และท่าเทียบเรือประมงอีก ๑๔ แห่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน นอกจากนี้ยังได้มีการขยายบทบาทการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการประมงอีกหลายประการ ทั้งในด้านการให้สินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การประมง และให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันประมง ชุมชนประมง เพื่อส่งเสริมฐานะและสวัสดิการของชาวประมง เป็นต้นงานอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งองค์การสะพานปลาให้ความสำคัญ ได้แก่ การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพประมง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ.ช่วยเหลือลดราคาน้ำมันให้ชาวประมง (น้ำมันม่วง) โครงการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปให้กับกระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) การจัดให้มีจุดตรวจสอบคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำเบื้องต้น เพื่อป้องกันการใช้สารปนเปื้อนต่าง ๆ ในสินค้า สัตว์น้ำ รวมถึงการปรับปรุงสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงขององค์การสะพานปลาให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าสัตว์น้ำ ช่วยให้คนไทยได้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำที่สด สะอาด และการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปจำหน่ายในตลาดโลก เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า ไม่ประสบปัญหาการกีดกันทางการค้า

หากจะกล่าวโดยรวมแล้ว องค์การสะพานปลาได้พัฒนาบทบาทของตนเองจากการเป็นเพียงกลไกส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าสัตว์น้ำ ให้สามารถเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุน และเป็นที่พึ่งให้กับชาวประมง ในฐานะองค์กรของรัฐที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับชาวประมงมากที่สุดองค์กรหนึ่ง สำหรับทิศทางในอนาคต องค์การสะพานปลามีเป้าหมายที่จะดำเนินงานไปในเชิงธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้นอกเหนือจากจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มแล้ว องค์การสะพานปลายังมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประมงมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงไม่ทอดทิ้งภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายนับแต่วันก่อตั้งองค์การสะพานปลาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้อาชีพประมงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติตลอดไป

องค์การสะพานปลาตั้งอยู่ที่ 149 เจริญกรุง 58 สาทร กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์ 0-2211-7300,0-2212-4490 โทรสาร 0-2212-5899 Email : contact@fishmarket.co.th