ชีวประวัติ

พระอาจารย์มี

ทำพระอาจารย์มี ผู้ทรงวิทยาคุณแห่งวัดยานนาวา

เมื่อปลายมัยแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช มีความในตำนานกล่าวอ้างถึงพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งแห่งวัดคอกควายว่า “...เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ ถึงวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๔ (เดือน ๔ ปีฉลู จ.ศ. ๑๑๔๓) เมื่อพระยาสรรค์ ได้นำสมัครพรรคพวกเข้าล้อมกรุงและจับตัวพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งกำลังไปศึกเขมร ได้รีบเดินทางกลับมายังกรุงธนบุรี ได้ให้พระยาสุริยอภัย พร้อมด้วยพระยารามและพระยาเข่งยกทัพตั้งมั่นประชิดกรุงธนบุรี ได้ให้พระยาสุริยอภัย พร้อมด้วยพระยารามและพระยาเข่งยกทัพตั้งมั่นประชิดกรุงธนบุรีเอาไว้ และมีหนังสือราชการลับไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ให้เกิดทางกลับจากเมืองพนมเปญโดยเร็ว เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกทัพมาถึง หลวงสรชิต นายด่านเมืองอุทัย ได้ลอบหนีออกจากกรุงธนบุรีไปรับและนำทัพมาตั้งอยู่ยังฝั่งตะวันออก ด้านใต้หัวคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านทะวาย อันเป็นชัยภูมิราชสีหนาม ห่างจากรุงธนบุรีชั่วนาฬิการหนึ่ง

พระยาสุริยอภัย จึงสั่งให้ท้าวทรงกันดาลทองมอญ นายตำบลบ้านทะวาย รวบรวมผู้คนปลูกพลับพลาตั้งค่ายรับเสด็จที่ทุ่งวัดคอกควาย และนิมนต์พระอาจารย์มี พระภิกษุหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฤกษ์ผานาทีเก้าห่วงมาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ทำพิธีตำรับพิไชยสงคราม วงดวง พระฤกษ์ และจัดขุนหลวงทหาร ขรัวครูวัดคอกควายทั้งหลายสวดไชยมงคลคาถา ประพรมพระพุทธนิมนต์ เจ้าอธิการวัดทำพิธียกเมฆ ตามตำรับรามัญ

พระอาจารย์มี ผู้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดยานนาวา (วัดคอกควาย) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านไสยเวทย์และโหราศาสตร์อย่างพร้อมมูล ภายหลังจากที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษก เป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระราชทานโปรดเกล้าฯให้พระอาจารย์มี เปรียญเอกเป็นพระราชาคณะองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่พระโพธิวงศ์ (มี) เจ้าอาวาสวัดคอกกระบือ

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๑ ได้บูรณปฏิสังขรณ์และสร้างวิหารวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) แล้ว ได้โปรดเกล้าฯให้พระโพธิวงศ์ย้ายไปดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระธรรมอุดม (มี) เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ” ภายหลังพระธรรมอุดม (มี) ได้ประกอบศาสนกิจก้าวหน้ามาตามลำดับ ได้รับเลือนสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรมและสมเด็จพระวันรัตน์ กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ (ปีวอก จ.ศ.๑๑๗๘) เป็นปีที่ ๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุ” นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(ตามประเพณีของยุคนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะต้องเสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุ) จวบจนกระทั่งถึงปีเถาะ จ.ศ.๑๑๘๑ (พ.ศ. ๒๓๖๒) สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุ ๗๐ พรรษา ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช ๔ ปี