วัดบรมสถล

วัดบรมสถล

วัดบรมสถล (วัดดอน)

วัดดอน เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๑ ปรากฏหลักฐานเดิมว่า มังจันจ่าพระยาทวาย ได้มาขอสวามิภักดิ์ขึ้นกับไทย และชาวทวายที่ตามเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้ศรัทธาสร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ ตัววัดตั้งอยู่บนที่ดอน จึงได้ชื่อว่า”วัดดอน” และ “วัดดอนทวาย”

เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชผู้ทรงเป็นใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์พร้อมกับสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้มีขุนนางชาวทวายชื่อ เนมะโยกะยอดิน หรือ มังจันจ่า พระยาทวายยอมยกเมืองทวายขึ้นแก่ไทย พร้อมทั้งได้ชักชวนเจ้าเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองฝ่ายพม่าข้าศึก ให้มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงรัตนโกสินทร์ กับได้ช่วยเหลือพระเจ้าหลานเธอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดาองค์ราชภาคิไนย ซึ่งเป็นธิดาของเจ้ารามณรงค์พระเชษฐาธิบดี ผู้ถึงแก่ชีพิตักษัยไปนานแล้วตั้งแต่คราวเสียกรุงเก่าให้พม่า ครานั้นด้วยเห็นแก่ความดีความชอบของพระองค์ทั้งสองจึงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้มังจันจ่าเจ้าเมืองทวายนั้น รับพระราชทานที่หลวงให้ครอบครัวและหมู่เหล่าชาวทวายที่อพยพมา ได้อยู่ที่ตำบลคอกระบือ เมื่อปีชวด พุทธศักราช ๒๓๓๕ และโปรดฯ ให้มังจันจ่าเป็นหัวหน้าปกครองดูแลบรรดาชาวทวายทั้งปวง

ในปีพ.ศ. ๒๓๔๐ มังจันจ่าเมื่อสร้างชุมชนมั่นคงแล้ว จึงได้ชักชวนทุกคนทุกผู้ในหมู่บ้านทวาย ให้ช่วยกันขวนขวายสร้างวัด ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่หลังหมู่บ้านทวาย อันเป็นที่มีชัยภูมิดีวิเศษยิ่ง ด้วยเป็นที่ดอนสูงเด่นกว่าที่ใดในระแวกหมู่บ้านทวายนั้น เหตุที่วัดสร้างอยู่บนที่ดอนล้อมรอบด้วยบริเวณที่ลุ่มราบจึงเรียกนามว่า “วัดดอน” และโดยเหตุที่พระยาทวายพร้อมทั้งชาวหทวายเป็นผู้สร้างวัดนี้ ผู้คนทั้งหลายจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดดอนทวาย” กับ “วัดดอนหลังบ้านทวาย” กาลล่วงสืบมาจนถึงพัทธศักราช ๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาแปลงนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดบรมสถล” แต่คนทั้งหลายเรียกชื่อเดิมของวัดจนชินติดปากติดใจ พร้อมทั้งคนท้องถิ่นที่เป็นลูกหลานบ้านทวายเองเล่า ก็ถนัดปากที่จะเรียกชื่อว่า วัดดอนบ้าง, วัดดอนทวายบ้าง มาจนถึงปัจจุบัน