วัดเซนต์หลุยส์

วัดเซนต์หลุยส์

วัดเซนต์หลุยส์

วัดเซนต์หลุยส์หรือโบสถ์เซนต์หลุยส์ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่เลขที่ 215/2 ถนนสาธรใต้ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ โดยที่ดินผืนนี้ ฯพณฯ หลุยส์ เวย์ กับคุณพ่อหลุยส์ โรมิเออ ซื้อไว้เมื่อปี ค.ศ. 1895 ไม่ว่าจะเป็นที่ของโรงพยาบาล วัดเซนต์หลุยส์ โรงเรียนรอบ ๆ หรือที่ปลูกบ้านของคริสตัง แม้ว่า ฯพณฯ หลุยส์ เวย์ ไม่มีโอกาสสร้างวัดเซนต์หลุยส์ กับโรงเรียนได้ก็ตาม ท่านก็ได้สงวนที่ดินไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้มีการสร้างภายหลัง

ต่อมาหลังจากที่คุณพ่อหลุยส์ โชแรง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชปกครองมิสซังกรุงเทพฯ ท่านโชแรงได้ย้ายสำนักพระสังฆราชจากวัดอัสสัมชัญมาสร้างที่บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ (ปัจจุบันคือสำนักพระสมณทูต) ท่านสังเกตเห็นว่ามีคริสตังแถบเซนต์หลุยส์อยู่จำนวนมากที่ต้องไปร่วมพิธีกรรมที่วัดอื่น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1955 ท่านจึงประกาศว่าท่านจะสร้างวัดเซนต์หลุยส์

วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1956 มีพิธีเสกไม้กางเขนปักไว้ตรงที่ซึ่งจะก่อสร้างพระแท่น วัดเซนต์หลุยส์ได้ตั้งชื่อตามศาสนนามของผู้สร้างวัดนี้ ทำพิธีเสกและเปิดวัดอย่างสง่าที่สุดในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1957 โดยมีพระสังฆราชทุกองค์ในประเทศไทยและบางองค์จากประเทศลาว และพม่ามาร่วมพิธีด้วย

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1957 พระสังฆราช โชแรงได้แต่งตั้งคุณพ่อมีแชล ลังเยร์ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเซนต์หลุยส์ พระสังฆราช โชแรงสร้างวัดนี้ให้เป็นของสังฆมณฑลกรุงเทพฯ แต่ท่านต้องการให้มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นเจ้าอาวาสตลอดไป ซึ่งหลังจากคุณพ่อลังเยร์ ก็มีคุณพ่อลาบอรี, คุณพ่อมังซุย มาเป็นเจ้าอาวาส ในที่สุดทางแขวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้แจ้งแก่พระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู ว่าเป็นการยากสำหรับคณะที่จะสนองความต้องการของพระสังฆราชโชแรงได้ จึงขอมอบวัดเซนต์หลุยส์ให้อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯโดยสมบูรณ์ เป็นผู้แต่งตั้งพระสงฆ์ไทยเป็นเจ้าอาวาสต่อไป

พระสังฆราชโชแรงได้มอบให้สถาปนิกท่านหนึ่งออกแบบวัดเซนต์หลุยส์ และได้กำชับแต่แรกเลยว่า รูปแบบของวัดจะต้องเป็นรูปกางเขน ทุกส่วนของวัดให้เล็งไปทางพระแท่นใหญ่และตู้ศีล หลังคางุ้มใหญ่มหึมา ฝาผนังล้อมด้วยอิฐแดง พระแท่นใหญ่อยู่ใต้ระฆังกลางวัด บนพื้นซึ่งยกขึ้นมาสูงกว่าพื้นวัดประมาณเมตรกว่า ๆ ทำแท่นด้วยหินอ่อนอิตาเลียน สีน้ำตาลแห่และอ่อนสลับกัน ส่วนพื้นแท่นและขั้นบันได เป็นหินอ่อนสีเขียว เหนือหน้าแท่นมีรูปพระเยซูเจ้าตรึงกางเขนสง่างาม เมื่อเปิดไฟรอบ ๆ เป็นขอบพอดี ข้างแท่นใหญ่กลางวัด ยังมีแท่นเล็ก ๆ อีก 3 แท่น และมีที่ล้างบาปทำด้วยหินอ่อนหนึ่งที่ นอกจากนี้รอบกำแพงภายในยังตกแต่งด้วยรูป 14 ภาค อ่างศีลล้างบาป ม้านั่ง อาสน์ ฯลฯ