วัดสุทธิวราราม

วัดสุทธิวราราม

วัดสุทธิวราราม เดิมเรียกว่า “วัดลาว”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพแล้ว ได้เสด็จไปปราบหัวเมืองที่ตั้งต้นเป็นก๊กต่างๆในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ ได้ยกทัพเรือไปปราบก๊กพระยานครศรีธรรมราช(หนู) ได้นำตัวพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พร้อมภรรยาและธิดามายังกรุงธนบุรี ให้พำนักอยู่กรุงธนบุรี ประมาณ ๒ ปี พระยานครศรีธรรมราชขอ พระบรมราชานุญาต เจ้าพระยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งพระนครตามแนวคลองกรวยติดแม่น้ำ (จนปรากฏชื่อว่า “ตรอกพระยานคร” ย่านถนนเจริญกรุง ๖๙) โดยได้รับพระราชทานที่ดินประมาณ ๒๐๐ ไร่ พระยานครฯขอพระราชทานสร้างวัดใกล้ๆ กับวัดคอกควาย (วัดยานนาวา ในปัจจุบัน) และยกที่ดินพระราชทานถวายวัด ๔๘ ไร่แต่ชื่อวัดไม่ปรากฏเนื่องจากวัดอยู่บริเวณบ้านทวายและบ้านชนชาติลาว จึงเรียกว่า “วัดลาว” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้พระยานครฯ กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งขุนนางตามแบบจตุสดมภ์ได้เช่นเดียวกับราชธานี

วัดลาว ตั้งได้ประมาณ ๑๐๐ ปี เกิดเพลิงไหม้หมดทั้งวัด จึงย้ายไปสร้างวัดที่ป่าช้าของวัด ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออก (เป็นที่ตั้งวัดสุทธิวรารามในปัจจุบัน) ปล่อยให้ที่เดิมรกร้างว่างเปล่า ต่อมาบริษัทวินเซอร์ไรช ซึ่งเป็นบริษัทชาวเยอรมันมาขอเช่าที่ดิน ทำสัญญาเช่าที่ดินจากกระทรวงกรรมการ เช่าที่ดินตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจรดถนนเจริญกรุง เพื่อสร้างเป็นโกดังเก็บสินค้า สร้างรั้วรอบละสร้างท่าเทียบเรือ เรียกชื่อว่า “ท่าเจ้าพระยา” แต่คนทั่วไปกลับเรีอกชื่อท่านี้ ตามลักษณะการสวมแว่นของผู้จัดการบริษัท วินเซอร์โรช (สมัยนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักแว่นตามากนักจึงเรียกว่า “ท่าสี่ตา” ไปและยังคงเรียกมาจนถึงปัจจุบัน

จากจารึกในแผ่นศิลาที่ติดไว้หน้าโบสถ์หลังเก่า ระบุว่า วัดนี้เดิมเป็นวัดสร้างเมื่อปี ร.ศ. ๑๐๐ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๒๓ ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ภรรยาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา)ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ ๖ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต (ร.๕) สร้างขึ้นใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามของท่านผู้หญิงสุทธิ์

ครั้นล่วงมาได้ ๑๘ ปี วัดนืทรุดโทรมลง ท่านปั้น ภรรยาของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) และท่านผู้หญิงสุทธิ์ มีความกตัญญูรู้ถึงคุณบิดามารดาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างใหม่บริบูรณ์ในปี ร.ศ. ๑๑๘ จุลศักราช ๑๒๕๒ พุทธศักราช ๒๔๔๒ และได้รับแต่งตั้งเป็นมรรคนายกของวัด ให้การอุปถัมภ์วัดตลอดมา

ประมาณ ปีพ.ศ. ๒๔๕๐ พระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัด มีวัตถุประสงค์จะขอย้ายวัดจากป่าช้ากลับไปอยู่ที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาดังเดิม จึงเจอจากับบริษัท วินเซอร์โรช ทางบริษัทเรียกค่าหรือถอนเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท แต่ทางวัดไม่มีเงินจึงไม่ได้ย้าย อยู่มาจนถึงปัจจุบันและจำยอมให้บริษัทอยู่ต่อไป (อยู่ต่อจนหมดสัญญาเช่าในปี พ.ศ. ๒๔๖๐) และเมื่อท่านปั้นถึงแก่กรรมบุตรธิดาของท่าน เช่น คุณหญิงสมบุญ วิเชียรคีรี ภรรยาของพระวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ ๘ มีความประสงค์จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศให้มารดา จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างโรงเรียนขึ้น ในบริเวณที่ธรณีสงฆ์ (ที่บริษัท วินเซอร์โรชเช่าอยู่) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (นับเป็นโรงเรียนแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาล ของพระองค์) ทรงมีกระแสพระราชดำรัสชมเชยว่า การสร้างโรงเรียนเป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง โรงเรียนใช้ชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมพิเศษวัดสุทธิวราราม”