วัดวิษณุ

วัดวิษณุ

สาทร: บริบทประวัติศาตของชุมชนฮินดูและวัดวิษณุ ในเขตสาทร

กระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในสังคมไทย เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในอินเดีย และการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกกราชจากอังกฤษจัดเป็นปัจจัยผลักดันที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพของชาวอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองเส้นทางหลักได้แก่

๑. เส้นทางอพยพทางทะเลผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ตัดเข้าสู่สิงคโปร์ มะละกา มาเลเซีย จากนั้นจึงเป็นการเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร

๒. ส่วนเส้นทางอพยพสายที่สองนั้นเริ่มจากอินเดียเข้าสู่จิตตะกองในบังกลาเทศจากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟตัดสู่พม่าและเหนือของประเทศไทย แล้วจึงลงใต้สู่กรุงเทพมหานคร กลุ่มผู้อพยพชาวฮินดูนั้นจัดว่ามีความหลากหลายและสามารถแบ่งออกได้เป็นห้ากลุ่มหลัก ได้แก่

๒.๑ กลุ่มชาวฮินดูจากอุตตรประเทศ (Uttra Pradesh) ทางตอนเหนือของอินเดียซึ่งประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์คนขายนมวัว และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ ลักษณะเด่นของชาวอินเดียอุตตรประเทศ คือการนับถือพระวิษณุ โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตสาทร และยานนาวา ตลอดจนการจัดสร้างวัดวิษณุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวอุตตรประเทศในเขตกรุงเทพมหานคร

๒.๒ กลุ่มชาวฮินดูจากแคว้นซินด์ (Sind) และปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจทอผ้าและนำส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวสำเพ็ง และพาหุรัด โดยถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาซิกข์และมีศูนย์กลางอยู่ที่คุรุสิงหสภาในย่านพาหุรัด แต่ก็มีชาวอินเดียบางกลุ่มที่นับถือศาสนาฮินดู และแยกตัวออกมาจัดตั้งวิหารเทพมณเฑียรแถวถนนศิริพงษ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูจากชินด์และปัญจาบ โดยปัจจุบันชุมชนดังกล่าวได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมฮินดูสมาชแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่โรงเรียนภารตะวิทยาลัย และอยู่ไม่ไกลจากวัดสุทัศน์เสาชิงช้า และเทวาสถานโบสถ์พราหมณ์

๒.๓ กลุ่มชาวฮินดูจากกุจราช (Gujarat) และราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งมักประกอบอาชีพค้าขายส่งออกและเจียระไนอัญมณี ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวถนนสีลม และสาทร กลุ่มชาวฮินดูนี้ จัดว่ามีบทบาทสำคัญในสมัยอาณานิคม และสงครามโลกครั้งที่สองเนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อ ทางการค้าระหว่างประเทศไทย อินเดียและตะวันออกกลาง

๒.๔ กลุ่มชาวฮินดูจากทมิฬนาดูร์ (tamil Nadur) ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของอินเดียและทางตอนเหนือของศรีลังกา แถวคาบสมุทรจาฟนาร์ โดยส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศ และค้าขายทั่วไปลักษณะเด่นของกลุ่มแขกทมิฬคือ การบูชาพระศิวะและพระอุมาอย่างเหนียวแน่นจนนำไปสู่การสร้างวัดพระศรีรัตนมหาอุมาเทวี หรือวัดแขก เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียใต้

๒.๕ กลุ่มชาวฮินดูจากเบงกอล ซึ่งอพยพมาจากเมืองธาร์กา (Dhaka) และจิตตะกองในบังกลาเทศตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพขายถั่วเครื่องเทศและเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า กลุ่มแขกก็มักนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีบางส่วนนับถือศาสนาฮินดู โดยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแขกทมิฬในย่านวัดแขกและสีลม

ชุมชนฮินดูในกรุงเทพมหานคร จัดมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอินเดียมักมองว่า ประเทศไทยคือฐานที่มั่นที่ปลอดภัยการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับพม่าและมลายูซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะเดียวกันบรรดานักการทูตของเจ้าหน้าที่อังกฤษได้เคยสงสัยว่า พรรค Garthar ของอินเดียซึ่งดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเอกราช มีเครือข่ายการเคลื่อนไหวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษและอินเดีย ต่อมาหลังจากอินเดียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ การตั้งถิ่นฐานและการแสดงบทบาททางเศรษฐกิจของชุมชนฮินดู ได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วกรุงเทพมหานคร

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในวัดวิษณุ วัดวิษณุ(Vishnu Temple) จัดเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูจากอินเดียเหนือ และได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดฮินดูที่มีความโดดเด่นในอษาคเนย์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของรูปสลักเทพเจ้าฮินดูที่ทำมาจากหินอ่อน และมีลักษณะงดงามได้สัดส่วนจำนวน ๒๔ องค์ นอกจากนี้วัดวิษณุยังถูกพัฒนาเป็นสมาคมฮินดูธรรมสภา ซึ่งจัดเป็นกรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญเคียงคู่กับ สมาคมฮินดูสมาชในโรงเรียนภารตะวิทยาลัย

วัดวิษณุหรือสมาคมฮินดูธรรมสภา ตั้งอยู่เลขที่ 50 ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยชาวอินเดียที่มาจากแคว้นอุตตรประเทศ หรือที่เรียกกันว่า พวกยูพี(U.P. Umited Province or Uttra Pradesh) โดยมีคณะกรรมการบริหารงานชุดหนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกสามัญทุกๆปี ได้ร่วมกับ ชาวอินเดียในประเทศไทย ซื้อที่ดินและสร้างเทวาลัยวัดวิษณุขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู หลังจากนั้น จึงได้มีการสร้างห้องสมุดวัดวิษณุ สุสานฮินดู ศิวาลัย และเทวาลัยพระศรีหนุมาน ส่วนสาเหตุที่เลือกซื้อที่ดินแถวสาทร เพื่อสร้างเป็นเทวาลัยนั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนที่ดินย่านดังกล่าวมีราคาถูก ประกอบกับชาวอุตตรประเทศที่ประกอบอาชีพอยู่แถววัดดอนและถนนตกมากกว่าย่านอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงทำให้สะดวกต่อการติดต่อและไปมาหาสู่

นอกจากนี้ ลักษณะภูมิศาสตร์ของเขตยานนาวา ซึ่งประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สลับกับที่ดอน มีความสอดคล้องกับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียนเหนือ ตามเมืองพาราณศรี และอโยธยา ซึ่งมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ดอน แต่ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำคงคาและสาขามากนัก

วัดวิษณุจัดเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีการจัดหาที่พักให้กับนักบวชที่เดินทางมาจากอินเดียตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักธุรกิจฮินดูและชาวอินเดียเชื้อสายอุตตรประเทศแถวยานนาวาและสาทร ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ โดยในปัจจุบันบัณฑิตวิทยาธร ศุกุล จัดว่าเป็นเสาหลักสำคัญในการประกอบกิจการทางศาสนาฮินดูภายในวัดวิษณุ ส่วนนายกฤษณะ ดี อุปเดียร์ จัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนฮินดูในเขตสาทร และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฮินดูธรรมสภาคนปัจจุบัน ความโดดเด่นของชุมชนรอบวัดวิษณุคือ การหลอมรวมและสมานฉันท์ระหว่างชาวฮินดูกับชุมชนชาวต่างประเทศ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตสาทร อันประกอบด้วย ชุมชนชาวมอญ-พม่า-ไทย ในย่านวัดปรกและถนนทวาย, ชุมชนชาวมุสลิมรอบมัสยิดยะวา, ชุมชนชาวไทย-จีนแถวสุสานวัดดอน, และชุมชนชาวคริสต์ ในย่านบางรักและสาทร สำหรับการปะทะสังสรรค์กับชุมชนชาวมอญ-พม่านั้น ได้เริ่มขึ้นจากนโยบายการขยายอำนาจทางการทหารของพม่าในสมัยพระเจ้าปดุง ซึ่งทำให้มีชาวมอญและพม่าเป็นจำนวนมาก อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งราชวงศ์จักรี แล้วค่อยๆ ตั้งหลักแหล่งปะปนกับคนไทยแถววัดปรก ยานนาวา และสาทร

ต่อมาเมื่อชาวฮินดูอุตตรประเทศได้เข้ามาสร้างเทวาลัยวัดวิษณุ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดปรก จึงเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวฮินดูกับชาวพุทธ โดยกลุ่มชาวอุตตรประเทศได้ทำการบริจาคเทวรูป ตลอดจนดินและน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเขตพุทธสถานจากประเทศอินเดียให้กับวัดปรก ซึ่งสร้างความพอใจให้กับคนไทย-มอญและพม่า ในขณะเดียวกันชาวชุมชนรอบวัดปรกเข้าไปนมัสการและบูชาเทพเจ้าฮินดูในวัดวิษณุ เพื่อตรวจโชคชะตาและเพิ่มพูนสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะชาวมอญและพม่านั้นจัดว่ามีความเชื่อและศรัทธาทางพระพุทธศาสนาและเทพเจ้าของศาสนาฮินดู

ความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมนั้นพบว่าในสมัยอาณานิคม กลุ่มชวาบางส่วนจากอินโดนีเซียได้ถูกเกณฑ์เป็นแรงงานให้กับบริษัทต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก และยานนาวาครั้นต่อมากลุ่มชาวมุสลิมอินโดนีเซียได้ตั้งหลักแหล่งแถวยานนาวา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มัสยิดยะวา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิมเกิดจากความเห็นอกเห็นใจกันในการตกเป็นเมืองขึ้นของอาณานิคมตะวันตกตลอดจนมีการขยายความร่วมมือ ระหว่างชุมชนทั้งในแง่การต่อต้านลัทธิอาณานิคมในอดีตตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การจัดทำกิจกรรมสมานฉันท์ทางศาสนาระหว่างฮินดูกับอิสลาม

ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวไทย-จีนนั้น จัดว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากเขตสาทร จัดเป็นที่ตั้งของสุสานวัดดอนและสมาคมต่างๆ ของชาวจีนในกรุงเทพมหานคร การมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนมักเป็นไปในลักษณะของการผสมผสานทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการประกอบพิธีฝังศพในสุสานวัดดอน กลุ่มชาวไทยจีนมักทำการเชิญนักบวชและชาวอุตตรประเทศเข้ามาประกอบพิธีกรรมเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ ในขณะเดียวกัน ความเชื่อของชาวไทยจีนเกี่ยวกับเทวตำนานได้เริ่มขยายตัวจากพระโพธิสัตย์เจ้าแม่กวนอิมไปสู่เทพในศาสนาฮินดู เช่น พระวิษณุและพระพิฆเณศ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองชุมชน

ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนชาวคริสต์นั้นจะพบว่าย่านสาทร บางรัก และยานนาวา จัดเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศและเป็นที่ตั้งของสถานทูตตะวันตก ตลอดจนโรงเรียนทางคริสต์ศาสนา เช่น อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน โดยชาวอุตตรประเทศบางคนได้ถูกว่าจ้างเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ และหลักศาสนาฮินดู เนื่องจากความคล่องแคล่วทางการสอนและมีอัตราจ้างที่ถูกกว่าชาวตะวันตก ในขณะเดียวกัน ชาวอุตตรประเทศยังได้ไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยตามบริษัทต่างชาติ เนื่องจากชาวอุตตร ประเทศมักมีรูปร่างกำยำและสูงใหญ่ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการความปลอดภัย

ดังนั้นจากลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูรอบวัดวิษณุกับชุมชนต่างประเทศกลุ่มต่างๆ จะพบว่าการผสมผสานทางศาสนา ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม และลักษณะการประกอบอาชีพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความโดดเด่นให้กับชุมชนอุตตรประเทศตลอดจนส่งเสริมให้วัดวิษณุกลายเป็นสถานที่สำคัญในการบูรณาการทางศาสนาและวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร