ข้อมูล

เทศกาลไหว้ขนมจ้างและการแข่งเรือยาว

เทศกาลไหว้ขนมจ้างและการแข่งเรือยาว

      เทศกาลไหว้ขนมจ้างหรือบะจ่าง เกิดขึ้นในยุคจั้นกั๋ว (จีนกลาง) หรือยุคสงครามนครรัฐ (๒๗๕-๒๒๑) ก่อนคริสตกาล หรือ พ.ศ. ๖๘-๓๒๒) เป็นเรื่องที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์จีน เทศกาลไหว้ขนมจ้างมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ตวงอู่เจี๋ย (จีนกลาง) ตวงอู่คือ เที่ยงวัน เป็นเทศกาลแสดงความกตัญญูต่อบรรพชนผู้รักชาติ วันไหว้ขนมจ้างเป็นวันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ปฏิทินสากลจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ยุคจั้นกั๋วประเทศจีนถูกแบ่งแยกออกเป็นเจ็ดก๊ก ก๊กที่เข้มแข็งที่สุดคือก๊กฉิม

      ชวีหยวน (เกิดปี พ.ศ. ๒๐๓) เป็นที่ปรึกษาของก๊กฉู่ มีความรู้ความสามารถหลายด้าน เป็นทั้งนักปราชญ์ นักประพันธ์กวีผู้รักชาติ นักปกครองที่ซื่อสัตย์สุจริต คัดค้านการฉ้อราชบังหลวงอย่างกล้าหาญ เป็นที่ไว้วางใจของอ๋องฉู่อย่างมาก จึงเป็นที่อิจฉาตาร้อนของพวกกังฉิน

      ฉินซีอ๋องคิดการใหญ่ต้องการรวมประเทศจีนให้เป็นรัฐเดียว วางแผนผูกมิตรกับรัฐที่อยู่ห่างไกล โจมตีรัฐอ่อนแอที่อยู่ใกล้กับรัฐฉิน รัฐฉินจึงผูกมิตรกับรัฐฉู่ เมื่อได้จัดการยึดครองรัฐข้างเคียงเสร็จแล้ว ก็ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของรัฐฉู่ไว้ แล้วส่งสารถึงอ๋องฉู่ เชิญไปเจรจากับรัฐฉิน ชวีหยวนทัดทานไว้ แต่พวกกังฉินและรัชทายาทของอ๋องฉู่ สนับสนุนให้อ๋องฉู่เดินทางไปเจรจากับฉินซีอ๋อง อ๋องฉู่ไม่รับฟังความเห็นชวีหวาน เดินทางไรรัฐฉิน จึงถูกฉินซีอ๋อกักตัวไว้เป็นตัวประกัน และตรอมใจสวรรคตที่รัฐฉิน รัชทายาทของอ๋องฉู่ขึ้นของราชย์แทน และขับไล่ชวีหยวนออกจากราชสำนัก

      ชวีหยวนกลับสู่บ้านเกิดความเสียใจที่อ๋องคนใหม่ไม่รับฟังความเห็นของเขา วิตกกังวลว่ารัฐฉู่จะสิ้นชาติในเร็ววันเขาได้ประพันธ์บทกวีรักชาติเป็นจำนวนมาก สะท้อนความทุกข์ใจที่ไม่อาจช่วยชาติได้ บทกวีที่มีชื่อเสียงมากชื่อ “หลีเซา” และกลายเป็นววรรณคดีคดีอันยอดเยี่ยมของจีนที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ พ.ศ. ๒๖๗ ทหารฉินซีอ๋องเข้ายึดครองเมืองอิ่ง ราชธานีของรัฐฉู่ ชวีหยวนทราบข่าวการสิ้นชาติ ด้วยความเสียใจที่ไม่อาจช่วยเหลือประชาชนของประเทศชาติได้ เขาเดินทางไปที่ริมฝั่งแม่น้ำหมี่ลั่ว เอาก้อนหินผูกไว้กับตัวกระโดดลงแม่น้ำไปตอนเที่ยงวัน ชาวบ้านเห็นเข้าจึงตีฆ้องร้องเป่าให้พรรคพวกเอาเรือออกควานหา จนตะวันจะลับขอบฟ้าแล้วยังไม่พบร่างชวีหยวน จึงมีคนเสนอให้กลับไปบ้านไปทำข้าวห่อด้วยใบไม้ไผ่พรุ่งนี้เช้านำมาทิ้งลงในแม่น้ำให้ปลากิน ทุกคนเห็นด้วย รุ่งเช้าชาวบ้านได้นำเรือออกสู่กลางแม่น้ำ เอาข้าวที่ห่อด้วยใบไผ่โยนลงแม่น้ำ แล้วตีกลอง จุดประทัดขับไล่ปลาไม่ให้ไปกินเนื้อชวีหยวน และทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ชาวบ้านก็จะมาทำพิธีเซนไหว้ชวีหยวนที่แม่น้ำหมี่ลั่ว เอาข้าวหอใบไผ่มาโยนลงแม่น้ำ นานเข้าจึงพัฒนามาเป็นการแข่งเรือพาย ข้าวห่อใบไผ่กลายเป็นขนมจ้างหรือบะจ่างในปัจจุบัน

      การแข่งเรือพายเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนประเทศต่างๆ จึงมีเทศกาลแข่งเรือยาวสากล ประเทศไทยก็ชมชอบการแข่งเรือยาวเช่นกัน แม่น้ำเจ้าพระยามีการแข่งเรือยาวทุกปี เขตสาทรมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีโอกาสชมการแข่งเรือแทบทุกปี และบะจ่างก็มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนทุกปีเช่นกัน ที่ตลาดเช้าข้างโรงเรียนกิตติพาณิชย์ ซอยเซนต์หลุยส์ 3 มีบะจ่างขายทุกวัน