ประวัติความเป็นมา

ประวัติโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังสยามได้สร้างโรงพยาบาลในที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินใน ค.ศ.1898 เมื่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ มุขนายกมิสซังคาทอลิกแห่งกรุงสยามระหว่าง ค.ศ. 1765-1909ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ แม้จะมีอุปสรรคและความยากลำบากนานักประการ แต่ด้วยความตั้งใจแน่วในการแพร่ธรรม และการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนชาวไทยพระสังฆราช หลุยส์ เวย์ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลโดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสิทธิ์ในที่ดินความช่วยเหลือจากบริษัทห้างร้านของชาวยุโรปที่มาค้าขายในกรุงสยามและผู้มีจิตศรัทธา การก่อสร้างเสร็จใน ค.ศ.1898 พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ได้ติดต่อคุณแม่อธิการริณีกังดิ๊ด เจ้าคณะแขวงไซง่อน ส่งภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร มาช่วยดำเนินกิจกรรมในโรงพยาบาลแห่งนี้

โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1895 มีพิธีเสกโรงพยาบาลอย่างสง่า ชื่อโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ภายใต้อำนวยการของซิสเตอร์เซนต์ปอล เดอชาร์ตร อาคารโรงพยาบาลได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างเต็มที่ ตามระเบียงและทางเดิน ตกแต่งด้วยต้น ปาล์ม และต้นไม้ต่างๆ ตัวอาคารประดับประดาด้วยธงทิวของชาติต่างๆ ซึ่งมีผู้แทนอยู่ที่กรุงเทพฯ บรรดาทูตต่างๆพร้อมใจกันมาร่วมพิธีและ เมื่อทูตของประเทศใดมาถึง ก็จะมีการบรรเลงเพลงชาติของเขาต้อนรับโดยวงดนตรีของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

เราเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร (NOT - FOR - PROFIT PRIVATE HOSPITAL) ก่อตั้งเมื่อ 15 กันยายน ค.ศ. 1898 (พ.ศ.2441) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย ฯพณฯ หลุยส์เวย์ มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกแห่งกรุงสยาม และได้มอบหมาย ให้ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรเป็นผู้ดูแลโรงพยาบาล

ที่มา :http://archive.is/prvPe#selection-995.0-995.629

ประวัติวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

อัครสังฆมลฑลกรุงเทพ ฯ โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ตัดสินใจพัฒนาสถานฝึกผู้ช่วยพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่มีอยู่เดิมให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 โดยทำโครงการจัดตั้งเป็น “วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์” เสนอขอรับใบอนุญาตต่อทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2528 นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยได้ลงนามอนุมัติ ใบอนุญาตจัดตั้งวิทยาลัย

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2528 นายอาทร ชนเห็นชอบ ปลักทบวงมหาวิทยาลัย ได้ทำพิธีมอบใบอนุญาตจัดตั้ง และข้อกำหนดวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2528 คณะกรรมการมาตรฐานการศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้มีมติเห็นชอบให้วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ เปิดดำเนินการและรับรองวิทยฐานะ

วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนลำดับที่ 18 และเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนลำดับที่ 4 ที่เปิดสอนสาขาพยาบาลศาสตร์ รับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 32 คน เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2528 เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและรับรองการเปิดดำเนินการในสาขาวิชาอื่น วิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์จึงได้เปิดดำเนินการ คณะศิลปศาสตร์ โดยระยะแรกได้ขออนุญาตเปิดสอนหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาแนะแนว และสาขาวิชาจิตวิทยาองค์กร และในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 โดยได้รับการเห็นชอบจากสภาวิทยาลัยและทบวงวิทยาลัย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยเซนต์หลุยส์”

20 มิถุนายน 2540 ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO9002 จากบริษัท BVQI นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นวิทยาลัยพยาบาลแห่งแรกของโลกที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 9002

ในปีการศึกษา 2546 วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ได้เปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพยาบาล และหลักสูตรระยะสั้น

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2550 วิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดคณะกายภาพบำบัดภายใต้ชื่อโครงการจัดตั้งคณะกายภาพบำบัด ซึ่งเปิดสอนหลักสูตร กายภาพบำบัดบัณฑิต (Bachelor of Physical Therapy Program) โดยผ่านการอนุมัติหลักสูตรจาก สภาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 และได้รับความเห็นชอบหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและการ รับรองปริญญาบัตรจากสภากายภาพบำบัด โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในภาคต้น ปีการศึกษา 2551 เพื่อผลิตนักกายภาพบำบัดออกสู่สังคม

ประวัติศูนย์วัฒนธรรม

ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2554 วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ได้ดำเนินการก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสที่มีพระชนมายุ 84 พรรษา และโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งการก่อตั้งวิทยาลัย รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยใช้สถานที่ตั้งบริเวณชั้น 3 สำนักหอสมุดและศูนย์การเรียนรู้ อาคารปิติบำเพ็ญ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โดยเรียนเชิญ ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธีเปิด และทางศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ฯ ได้จัดทำซุ้มนิทรรศการถาวร แบ่งออกเป็นซุ้มนิทรรศการต่าง ๆ ทั้งนี้ภายในซุ้มนิทรรศการได้ติดตั้ง ระบบ QR Code เพื่อให้สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) ซุ้มพระราชดำรัส ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือ Sufficiency Economy เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย

2) ซุ้มประวัตินักบุญหลุยส์ หรือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส อันเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

3) ซุ้มประวัติสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ที่ทรงความสำคัญยิ่งกับวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ครั้งที่เสด็จเยือนประเทศไทย และทรงเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชูได้ทูลรายงานว่าจัดตั้งวิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ขึ้นโดยศาสตราจารย์ นพ.บุญสม มาร์ติน จะเป็นอธิการท่านแรกของวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

4) ซุ้มประวัติโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จัดแสดงภาพถ่ายและประวัติของโรงพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยแห่งแรกของคณะนักบวชคาทอลิกในประเทศไทย ดำเนินการโดย คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ตร

5) ซุ้มประวัติวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ จัดแสดงภาพประวัติท่านอธิการบดีศาสตราจารย์ นพ.บุญสม มาร์ติน อธิการท่านแรกของวิทยาลัยเซนต์หลุยส์

6) ซุ้มประวัติฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู จัดแสดงภาพและประวัติของท่าน ซึ่งท่านมีความสำคัญต่อประวัติวิทยาลัยตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

7) ซุ้มประวัติ คณะภคินีเซนต์ปอลเดอร์ชาร์ตร ได้แก่ แมร์มีเรียม เดอ แซงต์อานน์ กิจเจริญ มหาธิการิณี คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร, เซอร์อาเดลา สิวรี พิศุทธิ์สนธพ : อธิการบดี วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ท่านที่ 2 และเซอร์โรส วิภา เลค : อธิการบดีวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ท่านที่ 3

8) ซุ้มประวัติเขตสาทร จัดแสดงประวัติ ภาพถ่ายและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขตสาทร

9) ซุ้มศาสนาในเขตสาทร จัดแสดงเรื่องราวและภาพถ่ายของศาสนาต่าง ๆที่อยู่ในบริเวณเขตสาทร อันได้แก่ ศาสนา คริตส์ พุทธ อิสลาม และฮินดู

10) ซุ้มวัฒนธรรม 4 ภาคของประเทศไทย จัดแสดงภาพเคลื่อนไหวการแสดงของแต่ละภาค

ผลการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมฯ ประจำปีการศึกษา 2556

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ร่วมต้อนรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัย STIKES BALI และมหาวิทยาลัย Widya Mandala Catholic Surabaya ประเทศอินโดนิเซีย โดยสาธิตการทำขนมไทย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ร่วมกิจกรรม ชม ชิม ช้อป Food Festival ซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตสาทร โดยส่งการแสดงของนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์เข้าร่วมทั้งหมด 3 ชุด เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย

วันที่ 27- 31 มกราคม พ.ศ. 2557 ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ และห้องสมุด ร่วมคณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดสัปดาห์ห้องสมุดขึ้นโดยบูรณาการในรายวิชา เอเซียนศึกษา ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557 ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ร่วมชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ และเปิดบอร์ดนิทรรศการกิจกรรมพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรมรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ให้แก่บรรณารักษ์อาวุโส เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป

ที่มา : ดร.นารีรัตน์ กิติอาษา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและศูนย์การเรียนรู้วิทยาลัยเซนต์หลุยส์