ข้อมูล

เทศกาลถือศีลกินเจ

เทศกาลถือศีลกินเจ

      เทศกาลถือศีลกินเจเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของไทยถ้านับปีปฏิทินสากลก็อยู่ระหว่างเดือนกันยาน ตุลาคม ระยะเวลาที่กินเจจะเป็นเวลา ๗-๙วัน มากน้อยแล้วแต่ศรัทธา การกินเจก็คือ การรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ แป้ง และถั่ว ไม่รับประทานอาหารที่ทำจาเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ แต่ก็มีผักบางชนิดที่ห้ามรับประทานเหมือนกัน เช่น กระเทียม หัวหอมแดงและหอมใหญ่ กุยช่าย หลักเกียวและใบยาสูบ ทั้งนี้เพราะเป็นผักที่มีกลิ่นฉุน และมีสารกระตุ้นความกำหนัด ทำให้เกิดกิเลส ส่วนการถือศีลนั้น ผู้ที่จะกินเจจะต้องสมาทานศีลห้า มีหลายท่านที่ถือเคร่งกว่านั้นคือ สมาทานศีลแปด ศีลสิบ และนิยมนุ่มขาวห่มขาวด้วย ร้านค้าที่ขายอาหารเจจะประดับธงเหลืองมีตัวอักษรคำว่าเจอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสน

      การกินเจเป็นการงดเว้นบาปและฝึกจิตให้ใฝ่ธรรม คืองดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตามศีลห้า เมื่องดการกินเนื้อสัตว์ สัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์ก็จะถูกฆ่าน้อยลง และเป็นการปรับสภาพร่างกาย กระเพาะและลำไส้ได้พักฟื้นและชำระล้างสารบางอย่างที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ออกไปจากร่างกาย การถือศีลห้าเป็นเวลา ๗ วัน หรือ ๙ วัน ติดต่อกันเป็นอานิสงส์อย่างยิ่ง เป็นการฝึกใจให้ใฝ่ธรรมะ ฝึกสติให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เผอเรอทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง

      เทศกาลถือศีลกินเจที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทย เห็นจะเป็นจังหวัดภูเก็ต คนจีน ลูกหลานจีน คนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งคนไทยแท้ๆ จะเดินทางไปภาคใต้ เพื่อร่วมขบวนแห่หรือไปชมขบวนแห่ของชายภูเก็ต เขตสาทร มีโรงเจและศาลเจ้าอยู่หลายสิบแห่ง เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ประชาชนทั้งหญิงชายนุ่งขาวห่มขาวต่างก็ไปนมัสการพระพุทธ พระโพธิสัตว์กวนอิม เก้าอ๋อมและเทพเจ้าอื่นๆที่ประดิษฐานอยู่ตามโรงเจและศาลเจ้า ร้านค้าต่างประทับธงเหลือเต็มพืดไปหมด แสดงว่าคนในพื้นที่เขตสาทรถือศีลกินเจเป็นจำนวนมาก

      มีตำนานกล่าวขานถึงที่มาของเทศกาลกินเจเดือน ๙ ไว้หลายตำนาน ในที่นี้จะยกมาเล่าสู่กันฟังสัก ๒ ตำนาน ตำนานแรกเป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาฝ่ามหายาน

      เทศกาลกินเจเดือนเก้า (เก้าอ๊วงเจ)

      เก้าอ๊วงเจ เป็นภาษาแต้จิ๋ว เก้าอ๊วงในภาษาฮกเกี้ยนเรียกเก้าอ๋อง ภาษาจีนหลางเรียนจิ่วฮวง ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีอรรถาธิบายว่า “เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล ๗ พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ด้วยกันหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ อันมี พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพระพุทธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระราหู ดาวพระเกตุ” ในพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก ๒ พระองค์นี้สาธุชนในพระพุทธศาสนา ต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาว ด้วยการสมาทานรักษาศีล ๓ ข้อ กล่าวคือ

      ๑.เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์ มาบำรุงชีวิตตน

      ๒.เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์ มาเพิ่มเลือดตน

      ๓.เว้นจากการเอาชีวิตสัตว์ มาเพิ่มเนื้อตน

      เพื่อซักฟอกมลทนออกจากร่างกาย วาจาใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดวาอารามพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัสการน้อยบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปทรงเสื้อผ้า, หมวก, รองเท้า, กระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน (แต่ในอดีต จะนำวัตถุสีทอง เครื่องปัจจัย ๔ ไปถวายนักบวช พระเณร ผู้ทรงศีล และแจกทานด้วยเสื้อผ้าเงินทอง ที่เป็นของจริงๆแก่คนทุกข์ คนยากจน และในประเทศไทยจะสมาทานศีล๕)

      ระลึกถึงวีรชนทั้ง 9

      ตำนานที่สองเกี่ยวข้องกับการรุกขึ้นสู้กอบกู้เอกสารในสมัยราชวงศ์ชิง เรื่องเดิมเล่ากัน ถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” หงี่หั่วท้วยเป็นคำในภาษแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางอ่านว่าอี้เหอถวน หลังจากชาวแมนจูรุกรานประเทศจีนโค่นล้มราชวงศ์หมิงสำเร็จ ก็ได้ก่อตั้งราชวงศ์ชิงขึ้นปกครองประเทศจีน ชาวจีนที่ไม่ยอมสยบให้กับชาวแมนจู ก็ได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองรุกขึ้นสู้เพื่อขับไล่ชาวแมนจู กองกำลังของประชาชนที่จัดตั้งกันเองนี้ มีอยู่หลายคณะ และคณะหนึ่งเรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” นี้ ก็ได้ก่อการรุกขึ้นสู้ในช่วงเดือน 9 กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจูงจึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ “หงี่หั่วท้วง” ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณ เกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมการรุกขึ้นสู้ในรอบใหม่อีกครั้ง

      ปัจจุบันเทศกาลกินเจจะมีอยู่แทบทุกประเทศในเอเชีย ที่มีชาวจีนอพยพหรือชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นประเทศที่มีการนับถือศาสนาพุทธ รวมทั้งในไต้หวันด้วย ส่วนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เทศกาลนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว จะมีคนกินเจอยู่ตามวัดวาอารามที่ยังหลงเหลืออยู่ และตามสำนักเต๋า ส่วนประชาชนจะมีบ้างก็เฉพาะบุคคล ระยะหลังประเทศจีนเปิดประเทศและส่งเสริมท่องเที่ยว วัดและสำนักเต๋าได้รับการบูรณะใหม่ เพื่อรับนักท่องเที่ยว และอาหารเจกลายเป็นเมนูเด็ดของวัดและสำนักเต๋าเหล่านี้ ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศจีนปัญหาการฟื้นฟูหลักธรรม ฟื้นฟูคุณธรรมและจริยธรรมตามแนวของศาสนาเป็นเรื่องเร่งด่วน